หากคุณคือนักธุรกิจออนไลน์ นักการตลาด หรือ Content Creator ย่อมรู้จักคำว่า SEO (Search Engine Optimization) หรือการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้ปรากฏในอันดับต้นๆ ของ Search Engine อย่างแน่นอน เพราะ SEO คือเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยเพิ่มปริมาณคนเข้าเว็บไซต์ สร้างความประทับใจแก่กลุ่มเป้าหมาย หรือเพิ่มฐานแฟนคลับออนไลน์ ดังนั้นหากใครทำ SEO แล้วประสบความสำเร็จ ก็เหมือนมีนางกวักวิเศษเรียกคนเข้าร้านแบบไม่ขาดสาย
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยผลตอบแทนจากการทำ SEO แล้วประสบความสำเร็จช่างหอมหวาน SEO จึงเป็นกิจกรรมที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ทุกคนจะสมหวัง หลายเว็บไซต์ทำ SEO แต่ล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับเว็บไซต์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง SEO และเงินทุนที่สูงกว่าได้
ในฐานะคนที่หลงใหลและหมกหมุ่นด้าน SEO ลองผิดลองถูกมามาก จนสามารถสร้างเว็บไซต์ที่ปรากฏบนผลการค้นหน้า 1 ของ Google ด้วย Keyword “สอนเล่นหุ้น เก็งกำไร” โดยใช้ต้นทุนหลัก 100 บาทต่อปี ผมจึงเคยมีเพื่อนๆโทรมาปรึกษาว่า “ทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้น ทำไงดี” ผมจึงขอแชร์วิธีการแก้ปัญหาข้างต้น ซึ่งผมมั่นใจว่า เมื่อท่านลงมือทำตามวิธีการในบทความนี้ เว็บไซต์ของท่านจะทะยานขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของผลการค้นหาแน่นอน
ทำ SEO ต้องเข้าใจ “SEP”
วิธีแก้ปัญหา “ทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้น” ต้องเริ่มจากเข้าใจ “Search Engine Procedure” (SEP) ก่อน
SEP คือขั้นตอนหรือวิธีการทำงานของ Search Engine (โดยบทความนี้จะใช้ Google เป็นตัวแทนของ Search Engine เนื่องจากเป็น Search Engine ที่คนไทยใช้งานมากที่สุด) การทราบ SEP จะทำให้คุณแก้ไขปัญหาทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้นอย่างตรงจุด ราวกับเป็นคุณหมอผู้ชำนาญที่เห็นอาการป่วยของคนไข้ปุ๊บ ก็บอกได้ว่าสาเหตุของโรคมาจากไหน
จากประสบการณ์ให้คำปรึกษากับเจ้าของเว็บไซต์ที่จ้างคนอื่นทำ SEO แล้วไม่เวิร์คหลายท่าน ผมพบว่าพวกเขามีพฤติกรรมคล้ายกันคือ “ฝากปลาย่างกับแมว” หมายถึงปล่อยให้ผู้รับจ้างปรับแต่งเว็บไซต์โดยไม่เคยรู้เลยว่า มีการทำอะไรไปบ้าง ซึ่งความคิดแบบนี้ค่อนข้างน่าห่วง เพราะหากผู้รับจ้างนำเว็บไซต์ไปปู้ยี้ปู้ยำ ทำ SEO ผิดวิธี จน Google มองว่าเป็นเว็บขยะ Google จะผลักเว็บไซต์นั้นไปจมปลักอยู่ผลการค้นหาหน้าท้ายๆ หรืออาจไม่แสดงเลย (ภาษานัก SEO เรียกว่า “Google แบน”) ซึ่งถ้าถูกแบนแล้ว การแก้ไขจะยากมาก ดังนั้นแม้จะมีการ Outsource ทำ SEO แล้ว เจ้าของเว็บไซต์ก็ควรรู้ SEP ไว้บ้าง เพราะจะได้มองออกว่า สิ่งที่ผู้รับจ้างทำ เป็นการทำ SEO แบบถูกวิธีหรือไม่
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ ผมจะเปรียบ SEP ของ Google เหมือนธุรกิจปั้นดารา สมมติว่า มีผู้จัดการดารามือทองคนหนึ่งชื่อ “อวย ศุภเช” ซึ่งมีงานหลักคือ หานักแสดงไปแสดงละครของสถานีโทรทัศน์ เขามีกฎเหล็กข้อหนึ่งคือ จะเสนอแต่ “ดาราที่ดีและมีคุณภาพ” เท่านั้น เพราะสถานีโทรทัศน์ย่อมเกิดความพอใจ อยากได้ดาราของคุณอวยมาแสดงอีก ทำให้เขาได้ผลประโยชน์ไปด้วย
วันหนึ่งคุณอวยได้ข่าวว่า หมู่บ้านเอมีหนุ่มสาวหน้าตาดีและอยากเป็นนักแสดงอยู่จำนวนมาก เขาจึงเดินทางด้วยรถยนต์ไปที่นั่น เมื่อพบเจอคนที่มีแววโดดเด่น จึงชักชวนมาอยู่ที่ “บ้านปั้นดารา” ซึ่งปกติ คุณอวยจะไปยังหมู่บ้านหรือสถานที่อื่นๆเพื่อชวนคนเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น บ้านปั้นดาราจึงกลายเป็นแหล่งรวมของหนุ่มสาวจากหลายสถานที่ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน
ที่บ้านปั้นดารา หลังจากหนุ่มสาวทุกคนได้ผ่านการฝึกฝนเป็นดาราแล้ว คุณอวยต้องจัดอันดับหนุ่มสาวโดยพิจารณาจากหน้าตาและฝีมือการแสดงเป็นเกณฑ์ เพราะตำแหน่งนางเอกพระเอกมีปริมาณจำกัด คนที่ลำดับสูงที่สุดจึงได้โอกาสแสดงละครก่อน คนถัดไปก็ได้โอกาสตามมา ในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่ทุกคนจะสมหวัง หนุ่มสาวบางคนซึ่งอยู่ในบ้านปั้นดาราอาจไม่ได้แสดงละคร เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานคุณอวยตั้งไว้
วิธีทำงานของ Google
SEP ของ Google ก็ทำงานเหมือนวิธีทำงานของผู้จัดการดาราครับ โดยมี 5 องค์ประกอบหลักคือ
1. Google เปรียบเหมือน บ้านปั้นดารา
2. Google Bot เปรียบเหมือน คุณอวย
3. เว็บไซต์ เปรียบเหมือน ดารา
4. ผู้ใช้งาน Google เปรียบเหมือน สถานีโทรทัศน์
5. link เปรียบเหมือนถนน
โดยขั้นตอนการทำงาน (SEP) ของ Google มีขั้นตอนดังนี้
1. Google Bot ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของ Google ออกไปเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ต่างๆที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต เช่น ชื่อโดเมนเนม ชื่อบทความหรือเว็บเพจ เป็นต้น
2. Google Bot นำข้อมูลที่ได้มาเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ Google ที่เปรียบเหมือนบ้านปั้นดารา ขอให้สังเกตว่า การที่ Google Bot จะออกไปเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ต่างๆได้นั้น จะต้องมี “link” ที่เปรียบเหมือนถนนเชื่อมระหว่าง Google กับเว็บไซต์ ดังนั้นต่อให้เว็บไซต์ดีแค่ไหน แต่หากไม่มี link Google ก็ไม่สามารถเข้ามาเก็บข้อมูลได้
3. เมื่อผู้ใช้ Google ค้นหาสิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น ค้นหาคำว่า “ที่พักเชียงใหม่ ราคาถูก” Google จะค้นในฐานข้อมูลว่า มีเว็บไซต์ไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ที่พักเชียงใหม่ ราคาถูก”
4. Google จัดอันดับเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง แล้วแสดงบนหน้าผลการค้นหา
หลักเกณฑ์พิจารณาอันดับเว็บไซต์ของ Google
คำถามต่อมาที่สำคัญคือ แล้ว Google มี “หลักเกณฑ์” การจัดอันดับอย่างไร เพราะหากคุณรู้ ก็แค่ทำให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ให้มากกว่าเว็บคู่แข่ง แค่นี้ Google ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธไม่ให้เว็บไซต์คุณขึ้นสู่อันดับสูงๆ ในหน้าแรกๆแล้ว
ซึ่ง “หลักเกณฑ์” การจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google ก็เกี่ยวของกับ “พันธกิจ” หรือเป้าหมายการดำเนินงานของ Google นั่นเอง โดย Larry Page หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google เคยกล่าวว่า สิ่งที่ Google ทำคือ ” understands exactly what you mean and gives you back exactly what you want” พูดง่ายๆ Google จะหาเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลซึ่งคุณต้องการและเป็นเว็บคุณภาพด้วย (เพราะมนุษย์ต้องการสินค้าคุณภาพ จริงไหมครับ) ซึ่งพันธกิจดังกล่าว ก็เป็นแก่นของหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google
โดยหลักเกณฑ์ที่ Google ใช้พิจารณาอันดับของเว็บไซต์ ในความเห็นผมมีดังนี้
1. usability – เป็นเว็บไซต์ที่อ่านง่าย ค้นหาข้อมูลสะดวก
2. relevance – เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ค้นหาต้องการ เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และแก้ปัญหาได้
3. authority – มีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่แหล่งซ่องสุมไวรัสหรือโทรจัน
เมื่อเราทราบหลักเกณฑ์ของ Google แล้ว ก็ได้เวลาที่จะแก้ไขปัญหาทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้นแล้วครับ
ขั้นตอนแก้ไขปัญหา ทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้น
จากประสบการณ์ การทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้น ก็มีอยู่แค่ 2 สาเหตุ คือ
1. ปรับแต่งเว็บไซต์ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ของ Google
2. คู่แข่งปรับเว็บไซต์ได้ดีกว่าเรา
โดยวิธีตรวจสอบว่า เราปรับแต่งเว็บไซต์ตรงกับหลักเกณฑ์ของ Google หรือไม่ เปรียบเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร ให้ทำดังนี้
1. ตรวจสอบฐานข้อมูล
เช็คว่าเว็บคุณอยู่ในฐานข้อมูลของ Google หรือยัง เพราะถ้ายัง Google ก็ไม่สามารถนำมาจัดอันดับและแสดงในผลการค้นหาได้ โดยวิธีการตรวจสอบมีดังนี้
1. เข้า Google พิมพ์ site:youdomain.com ในช่องคำค้นหา
2. ผลการค้นหาที่แสดงคือ URL ของเว็บไซต์คุณที่อยู่ในฐานข้อมูลของ Google ตัวอย่างเช่น จากรูปข้างล่าง ในฐานข้อมูลของ Google มี URL ของ https://www.contentshifu.com ทั้งหมด 146 URL
3. คุณสามารถระบุ URL ที่ต้องการค้นหาได้เลย ตัวอย่างดังรูปข้างล่าง
หากเว็บไซต์ของคุณไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ Google วิธีแก้ปัญหาคือ ให้ทำ link ตรงจากเว็บไซต์เราไป Google เลย โดยใช้เครื่องมือ “Google Webmaster Tool” (GWT) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. ไปที่ https://www.Google.com/webmasters/tools/submit-url
2. GWT มีลักษณะคล้าย Email คือ คุณต้อง Login จึงจะใช้ได้ ซึ่ง Username และ Password ที่ใช้ Login เข้า GWT ก็คือ Gmail Account ของคุณนั่นเอง
3. เมื่อ Login ผ่าน จะปรากฏหน้าเว็บตามรูปข้างล่าง ใส่ URL ของเว็บไซต์คุณ จากนั้นกด Submit Request
4. รอประมาณ 30 นาที Google Search Console จะส่งเมล์ไปที่ Gmail ของคุณแจ้งว่า ขณะนี้ Google เริ่มเก็บข้อมูลในเว็บไซต์ของคุณแล้ว
2. มี keyword ในตำแหน่งสำคัญหรือไม่
เมื่อ Google Bot เข้ามาถึงเว็บไซต์หรือเว็บเพจของเรา สิ่งแรกที่มันอยากรู้คือ เว็บเพจนี้นำเสนอข้อมูลอะไร คำถามคือ แล้ว Google Bot จะรู้ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไร
Shifu แนะนำ
หากบริเวณส่วนหัว(หน้าตา)คือสิ่งแรกที่ผู้จัดการพิจารณาในตัวดารา Google Bot ก็เช่นกันครับ สิ่งแรกที่มันพิจารณาคือซอรซ์โค้ดที่อยู่ตรง Head (ส่วนหัว) ของเว็บไซต์ ดังนั้นที่ Head ของเว็บเพจ จะต้องมี Keyword ซึ่งคือ คำ วลี หรือประโยคที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเว็บเพจ ตัวอย่างเช่น หากเว็บเพจคุณมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องมี Keyword “โรงแรม เชียงใหม่” เพื่อบอกให้ Google Bot ทราบว่า เนื้อหาของเว็บเพจเกี่ยวข้องอะไร
คุณควรตรวจสอบทุกครั้งว่า Keyword ใน Head ขัดแย้งกับเนื้อหาหรือไม่ เพราะ Google Bot อาจจัดหมวดหมู่บทความของคุณผิด ตัวอย่างเช่น เนื้อหาเกี่ยวกับโรงแรม แต่คุณดันใส่ Keyword ว่าฟิตเนส Google Bot อาจเข้าใจว่าข้อมูลเว็บเพจอยู่ในหมวดหมู่ “ออกกำลังกาย” ไม่ใช่ “ที่พัก” เมื่อมีคนค้นหาเกี่ยวกับโรงแรมในเชียงใหม่ Google จะมองว่าเว็บเพจของคุณไม่เกี่ยวข้อง (no relevance) และไม่แสดงเว็บเพจคุณให้ผู้คนหาเห็น
โดย 3 ส่วนสำคัญใน Head ที่ต้องมี Keyword คือ
1. URL
2. Page Titles
3. Meta Description
ทำไม 3 ส่วนนี้จึงสำคัญนัก ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ Google แสดงในผลการค้นหานั่นเอง
คุณสามารถอ่านวิธีการใส่ Keyword บนเว็บไซต์และการทำ on-page optimization ได้ที่บทความ
4 เทคนิคทำ SEO ที่นักเขียนต้องรู้! เขียนบทความให้กลายเป็นตำนานบน Google
3. ทำโครงสร้างเว็บไซต์ให้ดี
ลองจินตนาการว่า คุณเดินเข้าร้านสะดวกซื้อที่วางสินค้าปนกันอย่างระเกะระกะและไม่เป็นระเบียบ เช่น วางยาสระผมปนกับน้ำปลา วางอาหารปนกับยาฆ่าแมลง ทำให้หาสินค้ายาก เสียเวลา คุณย่อมรู้สึกไม่สะดวกและอยากออกจากร้านอย่างรวดเร็ว
หากเว็บไซต์ก็เปรียบเหมือนร้านค้า Content ก็เปรียบเหมือนสินค้าครับ หน้าที่ของเราคือสร้างโครงสร้างเว็บไซต์ที่มีการจัดหมวดหมู่ของ Content อย่างเป็นระเบียบ เหตุผลเพราะ
1. ผู้ใช้งานเว็บไซต์หาข้อมูลง่ายและสะดวก จึงใช้เวลาอยู่ในเว็บไซต์นานขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ SEO อย่าง MOZ บอกว่า ปริมาณเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่ในเว็บไซต์ (Dwell Time) คือปัจจัยสำคัญที่ Google ใช้จัดอันดับเว็บไซต์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนความเห็นของผู้เข้าเว็บไซต์ว่า นี่คือเว็บที่มีข้อมูลเป็นประโยชน์หรือไม่ เพราะหากไม่ พวกเขาย่อมออกจากเว็บอย่างรวดเร็ว ดังนั้นยิ่งค่า Dwell Time สูงเท่าไหร่ เว็บไซต์ของคุณยิ่งมีคุณภาพในสายตา Google มากเท่านั้น
2. ช่วยให้ Google Bot ไปเก็บข้อมูลแต่ละหน้าเว็บเพจได้ง่ายและเข้าใจภาพรวมว่า เว็บไซต์เราเกี่ยวกับอะไร จำไว้เสมอว่า แม้ Google Bot จะมาที่เว็บไซต์ของเราแล้ว แต่หากปราศจากโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี มันก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลในเว็บไซต์ได้อย่างทั่วถึง
แล้วโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีมีลักษณะอย่างไร ผมขออธิบายด้วยภาพดังนี้
ซึ่งวิธีสร้างโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี มีรายละเอียดมาก ดังนั้น Content Shifu จะอธิบายละเอียดอีกครั้งในบทความต่อๆไปครับ
4. ใช้งานบนมือถือได้หรือไม่
ปี 2015 Google ประกาศว่า ปัจจัยเรื่องการใช้งานที่เหมาะกับมือถือ (Mobile Friendly) มีผลต่อการจัดอันดับผลการค้นหาจากมือถือ เพราะ Smartphone เหมือนดั่งปัจจัยที่ 5 และเป็นอุปกรณ์หลักที่มนุษย์ใช้เล่นอินเตอร์เน็ต ดังนั้น Mobile Friendly จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
Mobile Friendly คือการเว็บไซต์สามารถแสดงผลบนมือถือได้พอดีหน้าจอ อ่านง่าย และค้นหาข้อมูลสะดวก คำถามคือ แล้วเว็บไซต์ของเราเหมาะกับมือถือหรือไม่ มีวิธีการตรวจสอบดังนี้
1. ไปที่ https://www.Google.com/webmasters/tools/mobile-friendly/
2. ใส่ URL ของเว็บไซต์ แล้วกด Enter
หากเว็บไซต์ของเราเป็น Mobile Friendly จะมีข้อความดังรูปข้างล่าง
หากตรวจสอบแล้วปรากฏข้อความว่า “Not Mobile Friendly” แสดงว่าการใช้งานเว็บไซต์ของคุณบนมือถือยังไม่ดีพอ จากประสบการณ์ ปัญหามาจาก2สาเหตุดังนี้
1. Software ไม่รองรับ ลองตรวจสอบว่า Software ที่คุณใช้สร้างเว็บไซต์ รองรับ Mobile Friendly หรือไม่ โดยไปที่ https://developers.Google.com/webmasters/mobile-sites/website-software/
หาก Software ของเว็บไซต์คุณไม่รองรับ ผมแนะนำให้เปลี่ยน Software เลย มันอาจเสียเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ผมรับรองว่า คุณจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า
2. ตั้งค่าผิด หาก Software รองรับอยู่แล้ว ปัญหาน่าจะมาจากการตั้งค่าผิด วิธีแก้คือ ให้ลองค้นหาใน Google ด้วยคำว่า make “your software” mobile friendly ตัวอย่างเช่น make wordpress mobile friendly แล้วคุณจะพบข้อมูลมากมายที่แก้ปัญหาได้
5. Content มีประโยชน์หรือไม่
Content ที่มีประโยชน์และจูงใจ คือตัวช่วยสำคัญซึ่งทำให้เว็บไซต์คุณปรากฏในหน้าแรกๆง่ายขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ Google ต้องการและอยากเสนอมันแก่ผู้ค้นหาข้อมูล ยิ่ง Google นำเสนอเว็บไซต์คุณภาพเท่าไหร่ คนก็ยิ่งติดหนึบและใช้งาน Google มากเท่านั้น Content คุณภาพจึงเปรียบเหมือนเด็กเส้นที่ Google ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเสมอ
โดย Content คุณภาพ คือ Content ที่เข้าใจง่าย แก้ปัญหาได้ และที่สำคัญคือ ไม่ก็อบปี้มา (Duplicate Content) สาเหตุที่ Google ไม่ชอบของก๊อปมากๆคือ “ความสิ้นเปลือง” ลองจินตนาการว่า หากฐานข้อมูลของ Google เต็มไปด้วย Duplicate Content เมื่อผู้ใช้ Google ค้นหาข้อมูล ก็จะเจอแต่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาซ้ำซาก ไม่แตกต่าง นั่นหมายถึง Google เปลืองพื้นที่เก็บข้อมูลไปฟรีๆ โดยไม่เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้าเลย ดังนั้น หาก Google จับได้ว่า เว็บไซต์ของคุณเป็นแหล่งซ่องสุมของ Duplicate Content ก็เตรียมถูกลบออกจากฐานข้อมูลของ Google ได้เลยครับ
Shifu แนะนำ
สิ่งที่คุณควรมีใต้ Content คือ ช่องแสดงความคิดเห็นหรือ Comment เพราะเป็นสิ่งสะท้อนความเห็นของผู้ชมว่า Content นี้มีประโยชน์ต่อผู้ชมหรือไม่ หากมีคนแสดงความเห็นประมาณว่า ได้ความรู้ดีมาก หรือ เป็นประโยชน์มากครับ ก็แสดงว่า คุณมาถูกทางแล้ว
แต่ถ้ามีความเห็นเชิงลบ สิ่งที่คุณไม่ควรทำคือลบทิ้งดี้อๆ เพราะเจ้าของความเห็นนั้นอาจไปเขียนถึงเว็บไซต์เราแบบเสียๆหายๆบนเว็บอื่นหรือใน Pantip ส่งผลเว็บเรากลายเป็นผู้ร้ายบนโลกอินเตอร์เน็ต สิ่งที่ควรทำคือ “พิจารณาและสื่อสารกลับ” อะไรชี้แจงได้ก็ทำ แต่ถ้าเราบกพร่องจริงๆ ก็ควรขออภัยและขอบคุณด้วย ดีเสียอีก เราจะได้ข้อมูลมาปรับปรุงเว็บให้ดีขึ้น
คุณสามารถอ่านวิธีสร้าง Original Content ได้ที่บทความ เทคนิคการทำ Original content ให้กับเว็บไซต์
6. วิเคราะห์ Backlink
Backlink คือลิงค์จากเว็บไซต์อื่นที่ชี้มาที่เว็บเรา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเว็บ ตัวอย่างเช่น สมมุติผมไปเขียนกระทู้สอนเล่นหุ้นใน Pantip เมื่อเขียนจบ ผมพิมพ์ข้อความปิดท้ายว่า “คลิ๊ก www.สอนเล่นหุ้น.com” โดยเมื่อคลิ๊กซ้ายที่ข้อความดังกล่าว ก็จะปรากฏหน้าเว็บไซต์ของผมขึ้นมา นั่นแหละ คือ ฺBacklink
ทำไม Backlink จึงสำคัญ เพราะมันส่งผลต่ออันดับในผลการค้นหา โดย Google มอง Backlink เปรียบเหมือนการได้โหวตจากเว็บอื่นว่า เว็บนี้มี “คุณภาพและน่าเชื่อถือ” ดังนั้น ยิ่งเว็บไหนมี Backlink ทั้งปริมาณและคุณภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสปราฏในอันดับต้นๆของผลการค้นหามากเท่านั้น
การวิเคราะห์ ฺBacklink ว่าเว็บไซต์ของเรามี ฺBacklink คุณภาพและปริมาณมากขนาดไหน เทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร เป็นเรื่องจำเป็น เพราะแม้เราปรับปรุงโครงสร้างเว็บไซต์ดีแล้ว แต่ถ้าคู่แข่งของเรามี ฺBacklink ที่ดีกว่า ก็มีโอกาสสูงที่คู่แข่งจะอยู่ในตำแหน่งดีกว่าเรา โดยวิธีวิเคราะห์ Backlink มีดังนี้
1. ให้ไปที่เว็บไซต์ http://www.seoreviewtools.com/valuable-Backlinks-checker/
2. ป้อนโดเมนเนมของเว็บเพจ และ เลขตามภาพข้างล่าง แล้วกด preform check จะปรากฏ ฺBacklink ของเว็บไซต์นั้นขึ้นมา
3. เช็คจำนวนของ Backlink ก่อนครับ ซึ่ง tool นี้ดีอย่างคือ มันแสดงเฉพาะ Backlink ที่มีผลต่อการจัดอันดับของ Google จริงๆ ไม่นับ link ที่เป็น no follow
4. ให้ดูค่า PA / DA ของเว็บเพจเราและคู่แข่งเรา โดยทั้ง 2 ค่า มีนิยามดังนี้
PA คือตัวเลขที่บอกว่า เว็บเพจนี้มีโอกาสสูงขนาดไหนที่จะปรากฏในหน้าแรกๆ (หน้า1-3) ของ Google โดยมีค่า 0-100 ยิ่งค่า PA มากยิ่งดี เพราะสะท้อนว่า เว็บเพจนั้นมีความน่าเชื่อถือสูงและเป็น Backlink คุณภาพ
DA คล้าย PA แต่ PA คือตัวเลขเฉพาะเว็บเพจหน้านั้น แต่ DA คือของ Domain Name พูดง่ายๆ คือ เป็นค่าที่บอกภาพรวมว่า เว็บไชต์นี้มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือขนาดไหน
โดยหลักการวิเคราะห์คือ ให้เปรียบเทียบปริมาณและคุณภาพของ Backlink ระหว่างเว็บไซต์เรากับคู่แข่ง หากปริมาณและคุณภาพของ Backlink ไม่ต่างกันมาก ก็พอจะต่อสู้เพื่อแย่งชิงอันดับได้ โดยคุณสามารถอ่านวิธีสร้าง Backlink แบบง่ายๆได้ที่ ศาสตร์ และศิลป์แห่ง Off-page SEO วิธีการสร้าง Backlink แบบง่ายๆ พร้อมตัวอย่าง
แต่หากพิจารณาแล้ว ฺBacklink ของเรากับคู่แข่งแตกต่างกันสุดกู่ ตัวอย่างเช่น เว็บเรามี 2 Backlink DA,PA ฺBacklink ละ 12 แต่คู่แข่งมี 50 Backlink DA, PA ไม่ต่ำกว่า 25 ทั้งนั้น แบบนี้ก็ต้องคิดหนักแล้วว่า จะสู้หรือถอย อย่างน้อยก็เป็นการรู้เขารู้เรา ดีกว่าหลับหูหลับตาทำโดยไม่รู้ว่า เป็นการใช้ไม้ซีกงัดไม้ซุง ซึ่งโอกาสสำเร็จเลือนลาง
สรุป
การแก้ปัญหาทำ SEO แล้วอันดับไม่ขึ้น ต้องเริ่มจากเข้าใจหลัการทำงานของ Google เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาอยู่ตรงจุดไหน จากนั้นจึงปรับเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ Google โดยมี 6 ขั้นตอนคือ 1. ตรวจสอบฐานข้อมูล 2. เช็คที่อยู่ของ Keyword 3. ตรวจสอบโครงสร้างเว็บไซต์ 4. เช็คว่า Mobile Friendly หรือไม่ 5. Content มีคุณภาพหรือเปล่า 6. วิเคราะห์ Backlink ซึ่งหากทำครบทั้ง 6 ขั้นตอน จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมีอันดับในผลการค้นหาที่ดีกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็ทราบว่า ควรเดินหน้าทำ SEO ใน Keyword นี้ต่อหรือไม่ครับ